โรคที่มากับฤดูฝน

สภาพอากาศโลกได้เปลี่ยนแปลงไป ดังปีที่ผ่านมาฤดูหนาวก็มีฝนตกหรือไม่ก็ร้อนอบอ้าว ฤดูร้อนกลับมีฝนตกหรือเกิดความกดอากาศสูงทำให้อากาศหนาวเย็นได้อีก บางวันหนักไปกว่านั้นมีทั้งร้อนฝนหนาวภายในวันเดียวกัน ร่างกายบางคนอาจรับการแปรปรวนของอากาศเช่นนี้ไม่ไหวทำให้เจ็บป่วยได้ง่าย ช่วงนี้ก็เข้ามาสู่ฤดูฝนอีกครั้ง ซึ่งปกติจะอยู่ในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมจนถึงกลางเดือนตุลาคม เนื่องจากความชื้นในอากาศและปริมาณน้ำฝนมากกว่าเดือนอื่นๆ เป็นสาเหตุของโรคที่เกิดจากความชื้นและน้ำขังได้ โดยเฉพาะโรคติดต่อที่เกิดจากน้ำโดยตรง หรือเกิดจากพาหะนำโรคที่เกี่ยวข้องกับน้ำ

โรคที่พบบ่อยในช่วงฤดูฝน สามารถแบ่งได้ 5 กลุ่มใหญ่รวมทั้งหมด 15 โรค ได้แก่

  1. กลุ่มโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ ที่พบบ่อย 5 โรค ได้แก่ โรคหวัด โรคไข้หวัดใหญ่ โรคคออักเสบ โรคหลอดลมอักเสบ และโรคปอดอักเสบ
  2. กลุ่มโรคติดต่อที่เกิดจากยุงเป็นพาหะนำโรค ที่สำคัญ 3 โรค ได้แก่ ไข้เลือดออก ไข้สมองอักเสบ เจ อี (Japanese Encephalitis) และโรคมาลาเรีย
  3. กลุ่มโรคติดเชื้อผ่านทางบาดแผลหรือเยื่อบุผิวหนัง ได้แก่ โรคเลปโตสไปโรซิส (Leptospirosis) หรือที่รู้จักกันในชื่อโรคไข้ฉี่หนูนั่นเอง
  4. กลุ่มโรคติดเชื้อระบบทางเดินอาหาร ที่พบบ่อยมี 5 โรค ได้แก่ โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน โรคบิด โรคไทฟอยด์ โรคอาหารเป็นพิษ และโรคตับอักเสบ
  5. กลุ่มโรคเยื่อบุตาอักเสบหรือโรคตาแดง

นอกจากกลุ่ม 5 โรคหลักดังกล่าวแล้ว ยังอาจพบโรคอื่นในฤดูฝนได้อีก เช่น โรคน้ำกัดเท้าจากเชื้อรา หรือ การถูกสัตว์มีพิษกัดต่อย เช่น งู ตะขาบ แมงป่อง หรือแม้กระทั่งโรคอาหารเป็นพิษจากรับประทานเห็ดพิษ

เห็นได้ว่ามีโรคหลากหลายที่พบได้บ่อยใน ช่วงฤดูฝน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรคที่สามารถป้องกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคติดต่อที่เกิดจาก ยุง ดังนั้นโรคพบบ่อยช่วงฤดูฝนตอนที่ 1 นี้ ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพจึงขอกล่าวถึงกลุ่มโรคติดต่อที่เกิดจากยุงเป็นพาหะ นำโรคที่พบบ่อยได้แก่ โรคไข้เลือดออกเดงกี่ โรคไข้สมองอักเสบ เจ อี และโรคมาเลเรีย เพื่อให้ทุกท่านสามารถรับมือป้องกันโรคกลุ่มนี้กันครับ